SX Talk Series ให้ความรู้ “Water of Life น้ำแห่งชีวิต”

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:5 Minute, 6 Second

SX Talk Series ครั้งที่ 5 จัดเสวนาให้ความรู้ ที่ปฏิบัติได้จริง เกี่ยวกับ “Water of Life น้ำแห่งชีวิต” เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟู “น้ำ” ให้มีความยั่งยืน

กระบวนการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำให้คงอยู่และมีใช้อย่างยืนยาวเพราะ “น้ำ” คือทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ครั้งนี้เวที SX Talk Series ครั้งที่ 5 ชวน 3 วิทยากร ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์ ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท อีโคโลเทค จำกัด เจมส์ สกอทท์ กรรมการบริหาร มูลนิธิ เทอร์ราไซเคิล ไทย และ วิภาดา สอนพูด เจ้าหน้าที่ชำนาญการพัฒนาอย่างยั่งยืน-สุรา จาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ที่มาร่วมพูดคุยสร้างความตระหนักรู้เรื่องความยั่งยืนของน้ำ ภายใต้ธีม “Water of Life น้ำแห่งชีวิต”

  • ดึงอากาศผลิตน้ำออแกนิก

ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์ ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท อีโคโลเทค จำกัด ได้มาเล่าถึง “นวัตกรรมดึงอากาศมาผลิตน้ำดื่มออร์แกนิก เปลี่ยนแนวคิดแก้ปัญหาโลกร้อน”

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ “นวัตกรรมดึงอากาศมาผลิตน้ำดื่มออร์แกนิก” มาจากการมองเห็นปัญหาขยะจากขวดพลาสติกใส่น้ำดื่มที่เพิ่มมากขึ้น และไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งในประเทศแถบ Southeast Asia จะเห็นว่า จำเป็นต้องซื้อน้ำดื่มเพราะน้ำประปาไม่มีคุณภาพมากพอให้ดื่มได้ สาเหตุมาจากแหล่งน้ำที่นำมาผลิตมีการปนเปื้อนสูง ทำให้คุณภาพน้ำไม่เสถียร จึงทำให้เกิดความพยายาม ที่จะค้นหาวิธีช่วยแก้ปัญหาน้ำดื่มอย่างยั่งยืน

จนกระทั่งค้นพบว่า บนท้องฟ้ามีน้ำบริสุทธิ์ลอยอยู่ในรูปแบบของเมฆ ความชื้น ชื่อว่า Atmospheric Water ซึ่งเรามองไม่เห็น แต่สามารถใช้เทคโนโลยีดึงน้ำจากความชื้นมาผลิตเป็นน้ำดื่มได้ จึงเป็นที่มาของธุรกิจ “เครื่องผลิตน้ำดื่มจากโมเลกุลอากาศ”

ตอนนั้น “ภาคภูมิ” นำเข้าเครื่องจากต่างประเทศ แต่ก็ขายไม่ได้เลย เพราะคนยังไม่เข้าใจ ทำให้เริ่มเกิดคำถามว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ได้จริงไหม แต่ท้ายที่สุด เมื่อทำงานไปพร้อมกับให้ความรู้ไปเรื่อย ๆ จึงเริ่มได้ผลตอบรับที่ดี มีคนสนับสนุนสินค้ากว่า 2,000 ครัวเรือน

จนกระทั่งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว “ภาคภูมิ” ได้พัฒนาเครื่องต้นแบบขึ้นเอง โดยได้รับทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และความร่วมมือกับบริษัทในประเทศเกาหลี นอกจากนี้ ยังขยายโอกาสการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดในพื้นที่ห่างไกลทั้งในไทยและต่างประเทศ ผ่านโครงการ The Sky Giver ด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาให้เข้ากับในแต่ละพื้นที่

  • ดูแลแหล่งน้ำ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี

“ร่วมกันดูแลแหล่งน้ำ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ทุกชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน” โดย เจมส์ สกอทท์ กรรมการบริหาร มูลนิธิ เทอร์ราไซเคิล ไทย

การดำเนินงานของมูลนิธิ เทอร์ราไซเคิล ในประเทศไทย ทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อลดการสร้างขยะและให้ความรู้เรื่องการไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่มูลนิธิดูแลอยู่คือบริเวณคลองลาดพร้าว ผ่านการให้ความรู้ชุมชนเรื่องการคัดแยกขยะก่อนทิ้งและติดตั้งเครื่องดักขยะจำนวน 3 เครื่อง

ขยะที่เก็บมาได้จะถูกนำไปคัดแยกเป็นขยะที่รีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้ ขยะประเภทหลังจะนำไปเผาทำลายเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า

ต้องบอกว่าขยะที่เราเก็บได้ ไม่ได้มีแค่ขวดพลาสติกหรือถุงเท่านั้น แต่มีแม้กระทั่งหน้ากากอนามัย ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อน หากขยะไหลลงสู่ทะเล สัตว์น้ำก็จะกินขยะเข้าไป แล้วสุดท้ายสัตว์เหล่านั้น ก็กลับมาเป็นอาหารให้เราบริโภค

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิได้เข้าไปปลูกฝังความรู้เรื่องการจัดการขยะในโรงเรียนและชุมชนอื่น ๆ รวมถึงจัดกิจกรรม CSR ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนให้เข้ามาเรียนรู้วิธีการจัดการขยะร่วมกัน เพราะเราไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยตัวคนเดียวได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนช่วยกันแยกขยะก่อนทิ้ง หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพื่อช่วยลดการฝังกลบหรือการปล่อยให้ขยะชิ้นนั้นย่อยสลายไปเอง ก็จะทำให้การจัดการขยะเป็นไปได้ดีมากยิ่งขึ้น

  • ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการใช้น้ำ

“บริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าน้ำ ตั้งแต่ต้นสายถึงปลายสาย ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

วิภาดา สอนพูด เจ้าหน้าที่ชำนาญการพัฒนาอย่างยั่งยืน-สุรา บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยเบฟในฐานะผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารโดยใช้ทรัพยากรน้ำเป็นหลัก ไทยเบฟมุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วยแนวทางการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยกตัวอย่างในส่วนกลางน้ำ ได้ดำเนินงานตามแนวทาง 3Rs คือ ลดการสูบน้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปรับปรุงคุณภาพของน้ำก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ และนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาช่วยประเมินความยั่งยืนของน้ำตั้งแต่ผิวดินและใต้ดิน ทำให้สามารถวิเคราะห์การเกิดผลกระทบของน้ำในพื้นที่นั้นได้

ปัจจุบันไทยเบฟ มีโรงงานตั้งอยู่ 35 แห่ง ทั่วประเทศ เทคโนโลยีนี้จึงมีส่วนสำคัญในการเข้ามาช่วยประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนรอบโรงงาน นอกจากนี้ ได้ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ จัดตั้งโครงการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ชุมชนรอบโรงงาน

เช่น ในพื้นที่ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ได้รวบรวมข้อมูลสารสนเทศย้อนหลังถึง 30 ปี เช่น ปริมาณน้ำฝน น้ำท่า เหตุการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งที่เคยเกิดขึ้น เพื่อนำมาวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองคาดการณ์สถานการณ์น้ำในอนาคตของพื้นที่นั้น และทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อหาแนวทางป้องกันต่อไปในอนาคต

นอกจาก SX Talk Series EP ที่มีการเสวนาให้ความรู้ ให้ข้อมูล สู่การปฏิบัติจริง SX ยังมีกิจกรรมมากมาย ในงาน Sustainability Expo 2023: Good Balance, Better World วันที่ 29 กันยายน- 8 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

“พฤกษา โฮลดิ้ง” ครึ่งปีแรกรายได้พุ่ง แผ่นพรีคาร์คาร์บอนต่ำโตแรง

“พฤกษา โฮลดิ้ง” ไตรมาส 2 ปี 66 กำไรสุทธิ 1,038 ล้าน เติบโต 141% รายได้รวม 7,107 ล้าน เติบโต 32% ส่งผลให้การดำเนินงานครึ่งปีแรก ทำกำไรสุทธิ 1,690 ล้าน เติบโต 72% รายได้รวม 13,665 ล้าน เติบโต 20% ขณะที่แผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำของ อินโน พรีคาสท์ […]

You May Like