UNGCNT ผนึกกำลังภาครัฐ ยกระดับการแก้ทุจริต เพิ่มความโปร่งใสหนุนธุรกิจไทยเติบโตยั่งยืน ชู 3 แนวทางแก้ปัญหา “ปรับปรุง-ทบทวน-ปฏิรูป”
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ร่วมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการยกระดับการส่งเสริมภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพภาคเอกชน พัฒนานโยบายและมาตรการการป้องกันและต่อต้านการทุจริต พร้อมด้วยกิจกรรมสร้างการรับรู้ต่อการขับเคลื่อน เพื่อร่วมกันยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทย
- ตั้งเป้า CPI ไทย ติด 1 ใน 20 อันดับแรกของโลก
ภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม คุณภาพ ชีวิตของประชาชนในประเทศ มานานแล้ว รัฐจึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศ โดยได้ระบุไว้เป็นเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ว่า “ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริต และประพฤติมิชอบ” มีการวัดความสำเร็จด้วยดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) โดยประเทศไทยจะต้องมีระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ลำดับแรก ของโลก เมื่อสิ้นสุดแผนในปี พ.ศ. 2580 ภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะที่่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทยให้สูงขึ้นตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ ไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้โดยลำพัง เพราะการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องของทุกฝ่าย จึงจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
- IOD เสนอสิทธิประโยชน์ มาตรการจูงใจ เอกชนน้ำดี
ด้านกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวว่า แม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนจะตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น แต่ปัญหานี้ยังคงมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากคะแนน CPI ในปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และได้กล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญเพื่อส่งเสริมภาคเอกชนในการต่อต้านการคอร์รัปชัน คือ การพัฒนาสิทธิประโยชน์และมาตรการจูงใจแก่บริษัทต่างๆ
สำหรับความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและมีความโปร่งใส มีหลายรูปแบบ เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทที่มีนโยบายต่อต้านการทุจริตที่มีมาตรฐานและเป็นไปตามกฎหมาย การได้รับสิทธิพิเศษเมื่อประมูลงานหรือการทำสัญญาเป็นคู่ค้ากับรัฐบาลสำหรับบริษัทที่มีประวัติด้านความซื่อสัตย์สุจริต หรือมีระบบควบคุมในการป้องกันการคอร์รัปชันที่เหมาะสมได้รับการรับรองจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยสถาบันการเงินและนักลงทุนอาจมีแนวโน้มที่จะจัดหาเงินทุน ให้กับบริษัทที่มีมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันที่เข้มแข็ง การยอมรับและการประชาสัมพันธ์ บริษัทที่เป็นผู้นำในการต่อสู้กับการคอร์รัปชันอาจได้รับการยอมรับผ่านรางวัลและการยอมรับในรูปแบบต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มชื่อเสียงและดึงดูดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่บริษัทเอกชน
- พบ 2 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจสร้างโอกาสการทุจริต
ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) กล่าวย้ำว่า การต่อต้านการทุจริตเป็นเรื่องของทุกฝ่าย การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการยกระดับการส่งเสริมภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ในวันนี้ มีสาระสำคัญอยู่ที่การนำไปปฏิบัติและวัดผลได้ รวมทั้งเปิดเผยให้โปร่งใส และให้มีการตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการป้องกันและต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ซึ่งจะช่วยยกระดับ
ความโปร่งใส ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม รับรองความยุติธรรมให้กับทุกคน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุด พร้อมทั้งกล่าวว่านักลงทุนและภาคธุรกิจจะใช้ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประเมินความเสี่ยงและตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งการประเมินคะแนน CPI จะอ้างอิงข้อมูลจากหลายภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจและเอกชน จึงทำให้การยกระดับคะแนนนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างภาครัฐและเอกชน
จากการถอดบทเรียนของ UNGCNT พบความท้าทายสำคัญ 2 ประการ ในกระบวนการอนุมัติ อนุญาตทางธุรกิจที่เป็นความเสี่ยงที่อาจสร้างโอกาสในการทุจริตคอร์รัปชัน ได้แก่
- ข้อท้าทายด้านกระบวนการ ภาคเอกชนต้องเผชิญกับขั้นตอนจำนวนมาก และระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการอนุมัติ อนุญาต หากกระบวนการอนุมัติ อนุญาตมีความซับซ้อนมากเท่าไร ความเสี่ยงในกระบวนการที่ไม่โปร่งใสก็จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) มาใช้ในการอนุมัติ อนุญาต และตรวจสอบ ติดตามผล เพื่อให้กระบวนการรวดเร็วขึ้น
- ข้อท้าทายด้านกฎระเบียบ การมีกฎระเบียบที่กำหนดกระบวนการที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็นในการอนุมัติ อนุญาตที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ อาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มภาระในการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการทุจริตได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อลัดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน ความสับสนและความไม่แน่นอนในการปฏิบัติตามกฎหมาย และการเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการทำลายโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ
- ชู 3 แนวทางผนึกกำลังแก้ทุจริต
ดร.เนติธร กล่าวว่า สมาคมฯ เสนอ 3 แนวทางหลักเพื่อพิจารณาประกอบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต ได้แก่
- การปรับปรุงกระบวนการอนุมัติ อนุญาตด้วยมาตรการที่ไม่ใช่กฎหมาย (non-legal measures) โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการติดตามและความรับผิดชอบในกระบวนการอนุมัติอนุญาต โดยกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) และเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม และวัดผลได้ รวมถึง ช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีต้นทุนที่จำกัด โดยอาจจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือ SME เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ขณะที่ แรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการทุจริตในกระบวนการเข้าเมือง อาจจัดให้มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ รวมถึงช่องทางร้องเรียนที่ปลอดภัย (whistleblowing)
- การทบทวนกฎระเบียบเพื่อขจัดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนหรือใช้ดุลยพินิจสูง (deregulation) ลดจำนวนกฎระเบียบและขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและสร้างภาระ ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลในกรณีที่ต้องใช้ดุลพินิจ เพื่อลดโอกาสในการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบและการทุจริต
- การปฏิรูปกระบวนการอนุมัติ อนุญาตโดยรวม (authorization reform) ออกแบบกระบวนการอนุมัติ อนุญาตที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในทางปฏิบัติ โดยเน้นการออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (user-centric design) ใช้กระบวนการอนุมัติ อนุญาตแบบอิงความเสี่ยง (risk-based licensing) โดยพิจารณาปัจจัยแวดล้อม อาทิ ประเภทอุตสาหกรรม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน ความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจ และประวัติการปฏิบัติตามกฎระเบียบของผู้ประกอบการ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน การต่อต้านการทุจริตที่มีประสิทธิผล จำเป็นต้องมีความสมดุลระหว่างบทลงโทษและแรงจูงใจที่เหมาะสม ที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้พยายามกำหนดมาตรการ และโครงการต่างๆ เพื่อต่อต้านการทุจริตทั้งภายในองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการทำงานร่วมกับคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นการประเมินความเสี่ยง การเปิดช่องทางแจ้งเบาะแส รวมถึงให้ความร่วมมือกับภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชน ยังต้องการการสนับสนุนช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อเสริมสร้างกลไกป้องกันที่มีอยู่ และการสร้างมาตรการจูงใจ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี สิทธิประโยชน์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง