กลุ่มเซ็นทรัล นำ 6 กลยุทธ์ลงมือทำ ผสาน ศก.สังคม สิ่งแวดล้อม ยั่งยืน 

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:18 Minute, 15 Second

กลุ่มเซ็นทรัล กาง 6 กลยุทธ์ สานต่อ “เซ็นทรัลทำ” บิวแคมเปญ “THAMsformation ทำเพื่อเปลี่ยน สู่ความยั่งยืน” พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม 

พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า โครงการ “เซ็นทรัล ทํา” – ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ ที่กลุ่มเซ็นทรัลดำเนินการมากว่า 7 ปี ด้วยเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในมิติต่างๆ ด้วยเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในวงกว้างและระยะยาว สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs -Sustainable Development Goals) 

ในปีนี้กลุ่มเซ็นทรัลได้ดึงแนวคิดสร้างความเปลี่ยนแปลงจากการลงมือทำ ในแคมเปญ “THAMsformation ทำเพื่อเปลี่ยน สู่ความยั่งยืน” พร้อมขับเคลื่อนการทำงานด้วย 6 กลยุทธ์ โดยนำศักยภาพของกลุ่มเซ็นทรัล ทั้งองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านค้าปลีกและบริการถ่ายทอด เพื่อให้เกิดการพัฒนา ต่อยอด และแก้ปัญหาให้กับชุมชน ตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values – CSV) ที่ช่วยยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค สนับสนุนช่องทางการจำหน่าย ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และยังสามารถส่งต่อองค์ความรู้ไปยังชุมชนใกล้เคียงผ่านศูนย์การเรียนรู้ ต่อยอดสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างความเท่าเทียมด้วยการลดช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งมอบโอกาสทางอาชีพและส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนและครู ตลอดจนการใส่ใจต่อสภาพแวดล้อมมุ่งสร้างโลกสีเขียว  

ปี 2567 “เซ็นทรัล ทำ” พยายามมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสทุกคนในสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาด้านการศึกษาสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ และต่อยอดหลายๆ โครงการที่ดำเนินไปแล้ว สู่การท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน 

สำหรับ 6 กลยุทธ์ ประกอบด้วย

1. Community – พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยการพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพส่งเสริมสินค้าให้มีเอกลักษณ์ เป็นที่ต้องการของตลาด สนับสนุนด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์และดีไซน์ต่างๆ รวมทั้งมอบช่องทางการจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ พัฒนายกระดับสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ต่อยอดการท่องเที่ยวยั่งยืนในเชิงเกษตรอินทรีย์และเชิงวัฒนธรรมในบริเวณโดยรอบของชุมชน นำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มเกษตรกรและชุมชนต่างๆ อย่างยั่งยืนโดยในปี 2566 ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 44 จังหวัด สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชุมชนต่างๆ กว่า 150,000 ราย สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน ผ่านการรับซื้อหรือสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายไปแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท

โครงการเด่นด้านพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน มีทั้งการที่ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ที่ร่วมกับ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ดำเนินโครงการวิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา บนพื้นที่ 9 ไร่ สนับสนุนโครงการด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ผลิตแหล่งอาหารที่ปลอดภัยกลับคืนสู่สังคมโดยให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาผลผลิต การรับซื้อ การสร้างแบรนด์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และช่องทางการจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ทำให้ชุมชนมีรายได้อย่างมั่นคง และยังสามารถแบ่งปันความรู้สู่ชุมชนใกล้เคียงได้ นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตและจัดจำหน่าย ผ่านการก่อสร้างอาคารคัดบรรจุผัก, รถขนส่งห้องเย็นสำหรับขนส่งผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ

ปัจจุบันชุมชนแม่ทาได้ขยายผลการดำเนินงานสู่ การจัดทำโฮมสเตย์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยมีกิจกรรมเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนมากมาย เช่น การเก็บไข่ไก่อารมณ์ดี,  การลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน, การทำขนมปัง โดยดำเนินการเสร็จแล้วจำนวน 1 หลัง และเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว ทั้งนี้ในอนาคตมีแผนที่จะร่วมกับ ททท. จัดทำแพคเกจ One Day Trip อีกด้วย การดำเนินโครงการแม่ทาออร์แกนิคสามารถช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนในปี 66มากกว่า 8.4 ล้านบาทโดยมีชุมชนเข้าร่วมกว่า 110 ราย โดยในส่วนของการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม 1,500 คนต่อปี สร้างรายได้จากการเข้าอบรมและท่องเที่ยวกว่า 3.8 แสนบาท

1.2 ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง 

กลุ่มเซ็นทรัลสนับสนุนก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี” เพื่อสืบสานวัฒนธรรมผ้าทอมือโบราณอายุกว่า 200 ปี ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้เลือนหายตามกาลเวลา ต่อมาถูกยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผ้าทอนาหมื่นศรีให้คนทั่วไปได้รู้จัก อบรมให้ลูกหลานชาวนาหมื่นศรีและนักเรียนโรงเรียนนบ้านควนสวรรค์ให้เป็นมัคคุเทศก์ในพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม ด้วยการจัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวในตำบล นาหมื่นศรีให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจท่ามกลางความงดงามตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการก่อสร้างร้านค้าวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2566 สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 9.2 ล้านบาท ครอบคลุมสมาชิก 155 ครัวเรือน ปัจจุบัน “ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอนาหมื่นศรี” นับเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์เชิงวัฒนธรรม โดยมีนักท่องเที่ยวและผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาเยี่ยมชมและซื้อสินค้ากว่า 21,000 คนต่อปี

1.3 ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านเทพพนา- สวนเทพพนา จ.ชัยภูมิ

ความโดดเด่นของสวนเทพพนา ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ผู้ปลูกอะโวคาโดสายพันธุ์แฮสส์ในไทย โดยถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนดี ช่วยลดปริมาณการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อีกทั้งยังดำเนินการทำเกษตรแบบอัจฉริยะ (Smart Farming) เช่น การทำปุ๋ยหมักระบบเติมอากาศ การจัดการน้ำใต้ดิน แทงค์น้ำพลังงานโซล่าเซลล์ นอกจากนี้ยังมีการเพาะต้นกล้าอะโวคาโด และเปิดอบรมให้กับผู้ที่สนใจปลูกอะโวคาโด ส่งผลให้เซ็นทรัล ทำ ตระหนักถึงศักยภาพดังกล่าว จึงให้การสนับสนุนด้านการจัดจำหน่ายผลผลิตส่งเข้า Tops และจริงใจ Farmer’s Market สนับสนุนการก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้เพื่อให้เป็นต้นแบบด้านการทำเกษตรอัจฉริยะในภาคอีสาน เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้การปลูกอะโวคาโด และเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตอื่นๆ เช่น เสาวรส ทุเรียน โอโซน แมคคาเดเมีย จากชุมชนใกล้เคียงเพื่อส่งขายให้กับธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล

ในปี 2566 ศูนย์การเรียนรู้บ้านเทพพนา มีจำนวนสมาชิก 500 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 41 ล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวและผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาเยี่ยมชมและซื้อสินค้าเป็นจำนวนกว่า 10,000 คนต่อปี จำนวนผู้เข้าอบรมการปลูกอะโวคาโด 3,000 คนต่อปี และเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3,000  ไร่

1.4 ศูนย์การเรียนรู้การทำฟาร์ม เมล่อน Smile Melon จ.อยุธยา

จากการปลูกเมล่อนเป็นอาชีพเสริมระหว่างการทำนา ซึ่งมีราคาผลผลิตตกต่ำ นำไปสู่การสร้างอาชีพหลักให้กับชุมชน โดยมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนา จนกลายเป็นแหล่งผลิตเมล่อนแบบครบวงจร เริ่มมีการส่งผลผลิตจำหน่ายที่ Tops แต่ยังขาดปัจจัยการผลิตที่สำคัญ กลุ่มเซ็นทรัลจึงได้เข้าไปสนับสนุนปัจจัยการผลิตในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงเรือนเพาะปลูก อาคารคัดแยกผลผลิต เพื่อให้สามารถปลูกเมล่อนได้อย่างหมุนเวียน ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานโมเดิร์นเทรด ขยายผลสู่การรับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมยกระดับ ศูนย์การเรียนรู้การทำฟาร์ม เมล่อน Smile Melon ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง

ภาพรวมของปี 2566 กิจกรรมภายใต้ศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งมีจำนวนสมาชิก 30 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 15.2 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวและผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาเยี่ยมชมและซื้อสินค้าเป็นจำนวนกว่า 7,200 คนต่อปี

1.5 จริงใจฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต หรือตลาดจริงใจ

พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรในท้องถิ่นได้นำพืชผักปลอดภัย และสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนมาวางจำหน่ายในพื้นที่ของกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีโอกาสได้พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำไปปรับปรุงพัฒนาสินค้า

นอกจากนี้การนำสินค้าจากภายในพื้นที่มาจำหน่ายยังทำให้คนในชุมชนได้บริโภคอาหารและสินค้าที่สดใหม่ คุณภาพดี และปลอดภัยจากสารเคมี เพิ่มโอกาสในการจำหน่าย สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร และสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชน โดยในปัจจุบันจริงใจ ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต มีทั้งหมด 33 สาขา ใน 29 จังหวัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจริงใจ มาร์เก็ต จ. เชียงใหม่ 1 สาขา และในพื้นที่ศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลในจังหวัดต่างๆ อีก 32 สาขา โดยในปี 2566 สามารถสร้างรายได้กว่า 231 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรกว่า 10,200 ครัวเรือน

1.6 good goods (กุ๊ด กุ๊ดส์)

ร้านจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นดีไซน์ร่วมสมัยแบรนด์ “good goods” (กุ๊ด กุ๊ดส์) ผลิตโดยวิสาหกิจเพื่อสังคม “เซ็นทรัล ทำ” ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล ริเริ่มเมื่อปี 2561 เพื่อสืบสานมรดกวัฒนธรรม ยกระดับสินค้าไทยให้ทันสมัย ด้วยการส่งมอบองค์ความรู้แก่ชุมชนให้สามารถพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และการออกแบบให้มีความร่วมสมัยโดยให้การสนับสนุน ดีไซเนอร์ให้คำแนะนำด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดจะถูกนำกลับไปพัฒนาชุมชนต่อไป นอกเหนือจากการอนุรักษ์สินค้าท้องถิ่นแล้ว เซ็นทรัล ทำ ยังมุ่งส่งเสริมศักยภาพกลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่ต้องการสนับสนุนเป็นพิเศษ เช่น คนพิการในการพัฒนาทักษะด้านการผลิตสินค้า ผ่านการดำเนินโครงการตะกร้าสาน ผู้พิการ ซึ่งร่วมมือกับสมาคมรวมใจคนพิการ จ.อุดรธานี เพื่อนำมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods โดยระหว่างปี 2562-2566 สามารถสร้างอาชีพให้ผู้พิการและเครือข่ายกว่า 200 คน สร้างรายได้สร้างรายได้ให้คนพิการในสมาคมผ่านการรับซื้อสินค้าเพื่อมาจำหน่ายในร้าน good goods คิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกว่า 12 ล้านบาท

ปัจจุบันร้าน good goods  มีจำนวน 3 สาขา ได้แก่ คอนเซ็ปต์สโตร์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 โซน Hug Thai , สาขาโครงการจริงใจ มาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ และสาขาที่ 3 ใหม่ล่าสุด สาขาเซ็นทรัลภูเก็ต ฟอลเรสต้า ชั้น G โซน Hug Thai นอกจากนี้ยังมีในส่วนของเคาท์เตอร์ good goods ที่เซ็นทรัล ชิดลม ชั้น 7 และ เซ็นทรัล ป่าตอง ชั้น B1 และช่องทางออนไลน์ผ่าน Line :@aboutgoodgoods อีกด้วย โดยใน ปี 2566 สามารถสร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาท จากการรับซื้อสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นจำนวน 39 ชุมชน

2. Inclusion – การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม

มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาให้กับเยาวชนผ่านการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบ Project – Based Learning ที่เน้นลงมือปฏิบัติด้วยประสบการณ์จริง ต่อยอดสู่การประกอบอาชีพในอนาคต  รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในด้านต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

โครงการเด่นด้านการลดความเหลื่อมล้ำ ;

2.1  โครงการยกระดับการศึกษาโรงเรียนบ้านตากแดด จ.พังงา 

มุ่งพัฒนาโรงเรียนบ้านตากแดดให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ข้าวไร่ดอกข่า”ด้วยการสนับสนุนการนำความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาพื้นที่ของโรงเรียนเพื่อการเพาะปลูกข้าวไร่ดอกข่าขยายผลสู่ชุมชนทำให้เกิดการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนข้าวไร่ดอกข่า ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะด้านเกษตรกรรมให้กับนักเรียน โดยเซ็นทรัล ทำ ยังร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สนับสนุนเครื่องซีลข้าวสูญญากาศและช่องทางการจำหน่าย ส่งผลให้จากศูนย์การเรียนรู้ในห้องเรียนสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายข้าวไร่ดอกข่ากลับคืนสู่โรงเรียน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายภายในโรงเรียน เช่น ค่าอาหารกลางวัน ฯลฯ ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการปรับปรุงสถานศึกษาในโครงการ ICAP ด้วยการออกแบบห้องเรียนและหลักสูตรให้มีสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย สร้างสมาธิ และความรับผิดชอบ และการจัดตั้งมุมคัดแยกขยะเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนอีกด้วย ปัจจุบันโรงเรียนบ้านตากแดดมี นักเรียนเพิ่มขึ้นจาก 47 คนในปี 2559เป็น 85 คนในปี 2566 ส่งผลให้โรงเรียนบ้านตากแดดเป็น โรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ของชุมชน ที่มีหน่วยงานเข้ามาศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทุกปี

3. Talent – พัฒนาศักยภาพที่เป็นเลิศของบุคลากร

มุ่งดูแลและพัฒนาบุคลากรขององค์กร ด้วยการส่งมอบความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานแก่บุคลากรทุกระดับให้สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพผ่านกิจกรรมและหลักสูตรอบรมต่างๆ ที่เน้นถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ตลอดจนสร้างความเคารพในคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายในองค์กรให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคตามหลักสิทธิมนุษยชน 

โครงการเด่นด้านพัฒนาศักยภาพที่เป็นเลิศของบุคลากร ;

3.1  การพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต มุ่งให้พนักงานพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโลกดิจิทัลโดยให้ความรู้แก่พนักงานทุกระดับ ผ่านการพัฒนา 9 หลักสูตรในกลุ่ม Digital Literacy, Data Analytics & Tools และ Agility เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาทักษะเฉพาะทาง

3.2  พัฒนาทักษะการปฏิบัติงาน พัฒนาทักษะทั้ง hard skill และ soft skill ด้วยการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพนักงาน (Training Roadmap) กว่า 50 เส้นทาง และพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสายงานกว่า 200 หลักสูตร ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจหลัก

3.3  การส่งเสริมสร้างสุขภาวะและการดูแลพนักงาน

ส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งกายและจิตใจ ปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้คุณค่าของความหลากหลายและเสมอภาคด้วยแนวคิด DEI (Diversity หลากหลาย – Equity เท่าเทียม – Inclusion เปิดรับความแตกต่าง) ผ่านการจัดกิจกรรมขององค์กร เช่น กิจกรรมส่งเสริมบทบาทและความสำเร็จของผู้บริหารหญิง สะท้อนความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งส่งเสริมการจ้างงานการจ้างงานผู้สูงอายุในตำแหน่งบริการลูกค้าหน้าร้าน รวมทั้งการจ้างงานคนพิการ เช่น ศูนย์ Contact Center ของไทวัสดุและเพาเวอร์บาย, พนักงานในเครือโรงแรมเซ็นทาราและร้านค้าในเครือเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป รวม 327 คน เป็นต้น

4. Circularity – ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน 

ส่งเสริมและรณรงค์ให้ทุกคนร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนโลกสีเขียวอย่างยั่งยืน ด้วยความมุ่งมั่นของธุรกิจในเครือในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงการร่วมมือกันรักษ์โลกและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

โครงการเด่นด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน;

4.1 โครงการจัดการอาหารส่วนเกิน (Food Surplus Management) เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งตั้งแต่ต้นทาง เริ่มตั้งแต่การวางแผนการใช้วัตถุดิบการจัดการอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย แบ่งเป็นอาหารที่ยังรับประทานได้ส่งต่อให้กับกลุ่มเปราะบาง โดยร่วมมือกับมูลนิธิ SOS , Yindii เป็นต้น โดยในปี 66 บริจาคอาหารส่วนเกินไปกว่า 2,681,476 มื้อ ลดปริมาณขยะลงสู่หลุมฝังกลบ 641 ตัน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ได้ถึง 1,486 ตันคาร์บอน นอกจากนี้ อาหารส่วนเกินที่ไม่สามารถรับประทานได้ จะถูกนำไปแปรรูปขยะอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

4.2 โครงการบริหารจัดการขยะพลาสติก (Plastic Waste Management) มุ่งเน้นการลดขยะพลาสติกผ่าน 3 แนวทาง  1) การลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือ single-use plastic ในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในกลุ่มเซ็นทรัล โดยในปี 2566 สามารถลดจำนวนถุงพลาสติกที่ส่งมอบให้ลูกค้า ซึ่งจะกลายเป็นขยะกว่า 187,758 ใบ ทำให้ลดปริมาณขยะพลาสติกได้กว่า 15 ตัน 2) เพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ เช่น โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราได้ยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก,เปลี่ยนถุงพลาสติกเป็นถุงผ้าสำหรับบริการส่งซัก ,เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของใช้ในห้องน้ำเป็นขวดที่สามารถรีฟิลได้ 3) การส่งเสริมกระบวนการรีไซเคิล กลุ่มเซ็นทรัล จัดเก็บขยะขวดพลาสติก PET เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (upcycled) ในปี 66 ได้ถึง 1,020,009 ขวด แบ่งเป็นดำเนินงานโดยเซ็นทรัล รีเทล จัดเก็บขยะขวดพลาสติก PET จากพื้นที่ธุรกิจ 492,009 ขวด และโครงการขวดเปล่าไม่สูญเปล่าดำเนินการโดย เซ็นทรัล ทำ รวบรวมขวดเปล่าได้ 528,000 ขวด เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า เช่น กระเป๋า เสื้อกั๊ก หรือผ้าห่ม จำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods หรือส่งมอบให้กับผู้ประสบภัย นอกจากนี้เซ็นทรัลพัฒนายังได้ดำเนินโครงการ Journey to Zero คัดแยกขยะรีไซเคิลทุกประเภท เช่น พลาสติก กระดาษ อลูมิเนียม โลหะ ขวดแก้ว ได้กว่า 10,585 ตัน คิดเป็น 13% ของขยะทั้งหมด และโรงแรมในเครือเซ็นทารากว่า 37 แห่ง ยังได้ดำเนินโครงการ Plastics Only, Please (P-O-P) ถังขยะรูปทรงปลาทะเล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าไม่ทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเล โดยสามารถนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด 1.7 ตัน ในปี 66

5. Climate – การฟื้นฟูสภาพอากาศ

เดินหน้าเส้นทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด (Renewable Energy) ของธุรกิจในกลุ่ม รวมทั้งการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานและผู้บริหารในองค์กรคู่ค้า ลูกค้า พันธมิตร โดยคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

โครงการเด่นด้านการฟื้นฟูสภาพอากาศ ;

5.1 โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนผ่าน Solar Rooftops 

ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ กว่า 170 แห่ง ในพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัฒนา ,ห้างเซ็นทรัล โรบินสัน และไทวัสดุ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ,โรงแรมในเครือเซ็นทาราและโรงงานภายในเครือเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้เองได้ทั้งหมด 114,200 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ต่อปี นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า กว่า 1,356 สถานี ภายในพื้นที่ของหน่วยธุรกิจเซ็นทรัล รีเทล, เซ็นทรัลพัฒนา, โรงแรมในเครือเซ็นทารา อีกด้วย

5.2 โครงการส่งเสริมลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากระบบขนส่งสินค้า

เพื่ออากาศที่ดีของคนไทยโดยไทวัสดุมีการนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Truck ซึ่งมีสมรรถนะโดดเด่นเทียบเท่ารถบรรทุกน้ำมันดีเซล เข้ามาใช้ในระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพื่อขนส่งสินค้าระหว่างร้านค้าในเครือไทวัสดุโดยมีแผนจะขยายเส้นทางเดินรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกในอนาคต เช่นเดียวกับท็อปส์ ที่มีการใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้านำร่องใช้ขนส่งกระจายสินค้าของร้านท็อปส์ เดลี่ ในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งนี้ปัจจุบันไทวัสดุและท็อปส์ มีจำนวนรถขนส่งขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 22 คัน สามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงกว่า 180,000 ลิตร

6. Nature – การอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 

มุ่งอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดสมบูรณ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเป็นแนวทางในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการดำเนินโครงการด้านการเพิ่มและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว อาทิ ด้านเกษตรกรรมยั่งยืนด้วยการส่งเสริมวิถีการทำเกษตรที่มีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจทำให้เกษตรชุมชนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยไม่ลดทอนหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อฟื้นคืนผืนป่า การปลูกต้นไม้และการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดี เพื่อการอนุรักษ์ดิน น้ำ อากาศและสิ่งมีชีวิต

โครงการเด่นด้านการปกป้องธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ;

6.1 โครงการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว โดยธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัลให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง เพื่อ ดูดซับคาร์บอนบรรเทาภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ สังคม และชุมชน โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการร่วมฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น การผนึกกำลังกับกรุงเทพมหานคร,กรมป่าไม้ ในการลงพื้นที่ปลูกป่าในจังหวัดต่างๆ  รวมทั้งการแจกจ่ายต้นไม้ให้กับประชาชนนำกลับไปปลูกยังบ้านพักอาศัยของตนเอง เป็นต้น ส่งผลให้ในปี 2566 สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่าได้กว่า 9,411 ไร่ ลดคาร์บอนได้ 7,456 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

ในปี 67 มีแผนดำเนินโครงการ Community Climate Action (CCA) ฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว 50,000 ไร่ ใน 6 จังหวัด เป็นต้น

“เซ็นทรัล ทำ” ยังได้เปิดตัววิดีโอโฆษณาชุดใหม่ “แค่ทำสักครั้ง” สอดรับกับแคมเปญ “THAMsformation ทำเพื่อเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน” สะท้อนเรื่องราวคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงแค่คิด แต่เกิดจากความกล้าที่จะเริ่มต้นลงมือทำและทำอย่างต่อเนื่อง ผ่านการบอกเล่าโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนบางส่วนของ “เซ็นทรัล ทำ” ที่ประสบความสำเร็จและเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน คลิกเพื่อรับชมวีดีโอโฆษณา “แค่ทำสักครั้ง”

โครงการ “เซ็นทรัล ทำ” ในปี 2566 สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน 1,700 ล้านบาทต่อปี สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชนกว่า 150,000 ราย สร้างงานและสนับสนุนอาชีพคนพิการ 1,011 คนมุ่งสู่ Net Zero ด้วยการลดปริมาณขยะสู่หลุมฝังกลบกว่า 20,830 ตัน, ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา 170 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่า 114,200 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และอื่นๆ เป็นต้น

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

เบทาโกร ดัน“อาหารฉลากสะอาด” S-Pure Prime สนองเทรนด์สุขภาพรักษ์โลก

เบทาโกร ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม “อาหารฉลากสะอาด – Clean Label” ส่ง “S-Pure Prime” ไส้กรอกเยอรมันสไตล์โฮมเมด จากเนื้อหมูเอสเพียว 100% เจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ ในบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

You May Like