2 ศิษย์เก่า มทร.ธัญบุรี ต่อยอดไอเดียสู่ธุรกิจ อัพเกรด “ดอกไม้กินได้” จัดตั้งบริษัทสตาร์อัพ “แอท ฟลาวเวอร์” เตรียม วางจำหน่ายดอกไม้กินได้ใน Modern Trade รุกตลาดพรีเมียม
ศิษย์เก่า มทร.ธัญบุรี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม “ออมสิน”-นางสาวชนัญธิดา ทะพลี ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ “เบนซ์”-นายธนธร อำไพกูล ศิษย์เก่าคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ร่วมตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ ภายใต้ชื่อ บริษัท แอท ฟลาวเวอร์ จับมือกับนักลงทุน เพื่อต่อยอดแนวความคิดและวิจัย ออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยเปิดบริษัท จำหน่าย ดอกไม้กินได้ เกรดพรีเมียม หลังเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ฯ ล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาจ้างกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี เพื่อยกระดับความสามารถในการดำเนินงาน เสริมแกร่งให้ธุรกิจ และขยายกำลังการผลิตขึ้น
ผศ.ดร.นิพัทธ์ จงสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี ได้ร่วมกันบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ Young startup โดย “ออมสิน” และ “เบนซ์” ศิษย์เก่าคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ที่จับมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ดอกไม้กินได้ เกรดพรีเมียมที่มีอายุการเก็บรักษาที่นานกว่าปกติถึง 2 เท่า และเป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับคัดเลือกเป็น The Best High Potential Entrepreneur Award RMUTT 2022 จากการประกวดผลงาน RMUTT Startup – Prototype Pitching 2022 โดยมี ผศ.ดร.อารณี โชติโก และผศ.ดร.ปรเมนทร์ พอใจ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ
จากการประกวด มีคณะกรรมการหลายท่านชื่นชมไอเดีย และศักยภาพ และเห็นโอกาสในการลงทุน จึงได้ให้การสนับสนุนงบประมาณ ต่อยอดไอเดียให้ก้าวสู่เชิงพาณิชย์ โดยเปิดบริษัท แอท ฟลาวเวอร์ จำกัด เพื่อจำหน่ายดอกไม้กินได้เกรดพรีเมียม ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ (New Emerging Technology) มาใช้เพื่อยืดอายุดอกไม้
ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังได้ลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษากับทางคณะ ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพ-นาโนและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อพัฒนานวัตกรรมการยืดอายุการเก็บรักษาของดอกไม้กินได้ ผัก และผลไม้ เพื่อการส่งเสริมธุรกิจ ยกระดับ และพัฒนากระบวนการผลิตในเชิงพาณิชย์
ด้าน ผศ.ดร.ปรเมนทร์ พอใจ ในฐานะหัวหน้าโครงการการพัฒนานวัตกรรมการยืดอายุการเก็บรักษาของดอกไม้กินได้ ผัก และผลไม้ กล่าวว่า ออมสินและเบนซ์ ถือเป็นผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ที่ต่อยอดและสานฝันให้เป็นจริงจากโครงการ RMUTT Young Startup Fund ที่ได้บ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ และได้รับความสนใจ จนได้รับการสนับสนุนจาก คุณณิชชา สารพุทธิเดชา เพื่อทำให้ไอเดีย เกิดเป็นรูปธรรม และเชื่อมั่นว่าศักยภาพและความขยันของทั้ง 2 คนนี้ จะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จทางธุรกิจ รวมถึงสามารถเป็น Role Model ให้กับรุ่นน้องและคนอื่นต่อไปได้ ขณะเดียวกันอาจารย์และทีมนักวิจัย ยินดีที่จะดูแล ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาอยู่เสมอ
ขณะที่เจ้าของไอเดีย ผู้ร่วมตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ “ออมสิน” ในฐานะกรรมการ บจก.แอท ฟลาวเวอร์ โดยดูแลด้านการตลาดเป็นหลัก เล่าว่า ตลอดเส้นทางทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ขอบคุณมหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอาจารย์ที่ปรึกษาที่ให้ความเชื่อมั่น
อีกหนึ่งสำคัญคือ พี่ณิชชา สารพุทธิเดชา ที่มาเป็นคณะกรรมการในโครงการฯ และทาบทาม มอบทุนสนับสนุน เพื่อจัดตั้งเป็น บจก. อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในหลายส่วน จึงได้เรียนรู้ ซึมซับวิธีคิดและวิธีการทำงานต่าง ๆ และบอกอีกด้วยว่า “ประสบการณ์และโอกาสที่ตัวเองได้รับในครั้งนี้ มันพลิกชีวิต พลิกความฝันสู่ความจริง เพื่อเป็นผู้ประกอบการ”
ส่วนอีกหนึ่งผู้ร่วมตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ “เบนซ์” ที่ดูแลด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัย ไร้สารเคมีปนเปื้อน และควบคุมการผลิตภายในโรงเรือน เล่าว่า การที่ บจก.แอท ฟลาวเวอร์ ได้ลงนามสัญญาจ้างกับศูนย์ความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพ-นาโนและนวัตกรรมดิจิทัล คณะวิทยาศาสตร์ฯ เหมือนได้กลับมาบ้านอีกครั้งหนึ่ง กรณีมีปัญหาทางธุรกิจเกิดขึ้น สามารถบอกกล่าวและได้รับความช่วยเหลือ ทั้งยังให้การซัพพอร์ตที่ดีมาก
“ผมจะตั้งใจสานฝันธุรกิจนี้ แม้จะเหนื่อยและท้าทายมากแค่ไหน ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป”
อย่างไรก็ตาม บจก.แอท ฟลาวเวอร์ จัดจำหน่ายดอกไม้กินได้ ในตลาดระดับพรีเมียม และวางแผนเข้าสู่ตลาด Modern Trade ในเร็ว ๆ นี้ รวมถึงกำลังพัฒนากระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ พัฒนาระบบขนาด Pilot Plan เพื่อขยายกำลังการผลิตสำหรับ รองรับการเติบโตทางธุรกิจต่อไป ผู้สนใจสามารถดูสินค้าและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ FB. เพจ At Flower-Edible Flower Farm