แฟชั่นหมุนเวียน ‘The Origin of Rebirth’ คว้าแชมป์โครงการ RECO Young Designer

admin
0 0

Sharing is caring!

Read Time:6 Minute, 24 Second

The Origin of Rebirth’ ชูคอนเซ็ปท์ Circular Fashion คว้าแชมป์ในโครงการ RECO Young Designer Competition

วัสดุทุกอย่างล้วนสวยในตัวของมัน เพียงแค่หยิบมาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง ก็เพิ่มความสวยให้มัน และใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

โอเว่น หรือ เปรม บัวชุม แชมป์ดีไซน์เนอร์อัพไซเคิลรุ่นใหม่จากโครงการ RECO Young Designer บอกว่า ดีใจมากที่ในที่สุดความพยายามก็ชนะทุกสิ่ง เราเคยเข้าประกวดโครงการ RECO ในปี 2019 มาแล้วครั้งหนึ่งได้ผ่านเข้าถึงรอบ 10 ทีมสุดท้าย แต่ยังไม่ถึงฝั่งฝัน ถึงอย่างนั้นก็ไม่ละความพยายาม จนมาถึงปีนี้ตั้งใจเข้าประกวดอีกครั้ง เราก็สั่งสมความรู้มาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้วัสดุรีไซเคิลซึ่งเป็นโจทย์หลักมาใช้ในงานดีไซน์แฟชั่นในคอลเล็คชั่น The Origin of Rebirth”

โอเว่น หรือ เปรม บัวชุม แชมป์ดีไซน์เนอร์อัพไซเคิลรุ่นใหม่

โอเว่น เล่าว่า

แรงบันดาลใจจากผลงานชิ้นนี้มาจากทฤษฎีบิ๊กแบง ที่อธิบายถึงการระเบิดใหญ่ที่ทำให้พลังงานส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นเนื้อสาร มีวิวัฒนาการต่อเนื่องจนเกิดเป็นกาแล็กซี เนบิวลา ดาวฤกษ์ ระบบสุริยะ โลก ดวงจันทร์ มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในเวลาต่อมา การออกแบบครั้งนี้จึงสะท้อนถึงการดับสูญและการเกิดใหม่ ไอเดีย คือ การนำเศษป้ายยี่ห้อที่ไม่มีใครต้องการมารีไซเคิลเป็นเส้นด้ายใหม่ แล้วถักทอเข้าด้วยกันเป็นผ้าผืนใหม่ ก็เหมือนกับการที่สารต่างๆ หลอมรวมกันจนเกิดกาแล็คซี่และสิ่งต่างๆ

สำหรับเทคนิคการตัดเย็บ โอเว่น อธิบายว่า ได้นำเศษป้ายยี่ห้อเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมทอผ้าที่มีความสวยงามในตัวเองอยู่แล้ว มาอัพไซเคิลเพื่อสร้างสรรค์ให้เสื้อผ้ากลายเป็นงานศิลปะ เพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าทางจิตใจ ผนวกกับการนำผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่ผลิตจากขวด PET ใช้แล้วซึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากอินโดรามา เวนเจอร์ส มาเป็นวัตถุดิบในการตัดเย็บชุดด้วยเทคนิคที่ถูกที่ถูกทางในคอลเล็คชั่นนี้ ก็ช่วยเพิ่มความสวยงามและโดดเด่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถดีไซน์เป็น accessories ต่างๆ ได้ รวมถึงการถักทอต่างๆ ยังสามารถกระจายรายได้ให้ชุมชนต่อได้ และผลิตเป็นเสื้อผ้าแบบ Ready to Wear ซึ่งสามารถนำสิ่งเก่ามาประยุกต์เป็นสิ่งใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ขายตามท้องตลาดได้ และใส่เดินเที่ยวบนท้องถนนได้จริง ตามแนวทางของ Circular Fashion

นวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานร่วมฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล

นวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานร่วมฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ในฐานะผู้จัดงาน และหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่ไอวีแอลเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการรีไซเคิล จึงเป็นที่มาและแนวคิดของโครงการประกวดออกแบบแฟชั่นรักษ์โลก RECO Young Designer ซึ่งได้จัดมายาวนานกว่า 9 ปี

คุณค่าของการรีไซเคิล หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้โดยอาศัยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างรายได้ และลดของเสียจากอุตสาหกรรมจะช่วยลดปริมาณขยะ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

การประกวดแต่ละปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการตอบรับของผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ RECO มากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของพัฒนาการของการออกแบบ การผลิตชิ้นงาน รวมถึงสิ่งที่เราพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ให้แก่น้องๆ เกี่ยวกับการรีไซเคิล

ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำขยะขวดพลาสติก PET มาใช้ในกระบวนการรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก และเส้นใยโพลีเอสเตอร์สังเคราะห์รีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้เข้าใจกระบวนการรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โครงการ RECO ยังมีที่ปรึกษาเป็นนักออกแบบ ซึ่งจะมาช่วยแนะนำน้องในเชิงการค้า ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ เพราะบางครั้งไอเดียอย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอ ก็ต้องมีการผสมผสานทั้งองค์ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ

สำหรับโจทย์ในปีนี้ ภายใต้ธีม “REVIVE : Start from Street” เน้นความเป็น Street เพราะคอลเล็คชั่นในปีที่ผ่านมา ค่อนข้างจะเหมาะกับการเดินแคทวอล์กมากกว่า ซึ่งหลายคนจะสงสัยว่า จริงๆ แล้วผลงานเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันหรือไม่ เพราะฉะนั้น โจทย์ในรอบนี้ เลยเน้นให้ผู้เข้าประกวด ส่งผลงาน 3 ชุด โดยเป็นชุด Concept 1 ชุด

ส่วนอีก 2 ชุดต้องเน้นเป็นชุดที่ใส่ได้จริงตามท้องถนน เพราะเราอยากให้คนรู้สึกว่า การใส่เสื้อผ้าที่มาจากการรีไซเคิลไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว มันก็ดูสวยงาม ซึ่งจากที่ได้เห็นผลงานของน้องๆ ก็ตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้มาก ซึ่งมันทำให้ดูแตกต่างจากปีก่อน ทำให้ของที่คนอาจมองว่าเป็นขยะกลายเป็นผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งพลิกมุมมองให้คนตระหนักถึงคุณค่าของวัสดุมากยิ่งขึ้น และการรีไซเคิลไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

สถิตคุณ บุญมี รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง

เช่นเดียวกับผลงาน Remembering Your Favorite Teddy Bear ของ สถิตคุณ บุญมี รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ที่ดึงเอาของใกล้ตัวอย่างตุ๊กตามาบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจการอัพไซเคิลว่า “ได้ไปเดินเยี่ยมชมโรงงานตุ๊กตาแห่งหนึ่งที่ราชบุรี เราพบว่า มีตุ๊กตาจำนวนหนึ่งถูกนำไปทิ้งเนื่องจากแพทเทิร์นมีตำหนิจนไม่สามารถนำไปเย็บขึ้นรูปได้ เราก็เลยรวบรวมตุ๊กตาทั้งจากโรงงาน ร้านขายของมือสอง และที่บ้าน มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะตุ๊กตาเหล่านี้ประกอบด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่นำมาอัพไซเคิลด้วยเทคนิคต่างๆ

นอกจากนี้ สีสันของตุ๊กตายังทำให้นึกถึงงานศิลปะแบบ abstract ของแจ๊คสัน พอลล็อค ซึ่งเป็นศิลปินแนวนามธรรม งานของพอลล็อคเป็นการหยดสีบนผืนผ้าใบแทนการระบายสีตามปกติ หยดและแนวสีที่ซ้อนกันทำให้เกิดเป็นงานศิลปะ จึงได้นำแนวคิดนี้มาผสมผสานเข้าไปในลวดลายของคอลเล็คชั่นเพื่อให้ชิ้นงานมีความร่วมสมัยมากขึ้น และบันดาลให้ตุ๊กตาที่ไม่มีคนสนใจแล้วกลายเป็นเสื้อผ้าสไตล์ร่วมสมัยที่สวมใส่ได้จริงผ่านการอัพไซเคิล

รองชนะเลิศอันดับ 2

ส่วน วรเมธ มอญถนอม ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และธนกร ศรีทอง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันแชร์คอนเซ็ปต์ผลงานรองชนะเลิศอันดับสอง ในคอลเล็คชั่น “Revive” ว่า เหมือนการชุบชีวิต ทำให้นึกถึงเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จากฤดูที่หนาวที่เหมือนตายแล้วกลับกลายเป็นฤดูใบไม้ผลิที่กำลังเบ่งบานขึ้นมา สิ่งที่กำลังฟื้นฟูขึ้นมา เปรียบระหว่างเรื่องราวของความตายกับเรื่องราวของการเกิดใหม่ เราจึงเอาวัสดุมา revive เหมือนกัน

ผมเลือกใช้เทคนิคที่นำวัสดุเหลือใช้ อย่างเช่น วัสดุ PET ต่างๆ เอามาต่อยอดเป็นเป็นงานศิลปะ 1 ชิ้น โดยนำมาทำเป็นลายพิมพ์ขยะที่สื่อความหมายลึกซึ้ง โดยการใช้เทคนิคการนำไปรีดกาวให้เกิดความรอยย่นระยะให้มันเป็น texture ขึ้นมาอีก 1 ชั้น มันอาจมีความไม่สมบูรณ์แบบบ้างในตัวชุด เพื่อให้เกิดอรรถรส คำนึงถึงการใช้วัสดุที่ไม่ต้องทิ้ง ในส่วนของการปักจะเลือกใช้แผ่นฟิล์มเอ็กซเรย์ที่ไม่ใช้แล้วจากโรงพยาบาลสัตว์ สำหรับผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลจากขวด PET นั้น ตัวผ้าติดสีได้อย่างที่ใจต้องการเลย ชุดที่เราทำสามารถปรับเปลี่ยนไปเอาไปใช้ในการทำงานได้จริง 100% และผมก็ยังทำงานที่คำนึงถึงความสามารถในการต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมได้

ผลงานในทุกคอลเล็คชั่นของโครงการ RECO สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดดีไซน์ การนำวัสดุต่างๆ ที่คนทั่วไปอาจเห็นว่าไร้ประโยชน์มาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดความสวยงาม มีคุณภาพ และใช้งานต่อได้จริง อินโดรามา เวนเจอร์ส หวังว่าการประกวดนี้จะสามารถจุดประกายความฝัน เปิดประสบการณ์ ปลูกฝังแนวคิด Circular Fashion รวมทั้งช่วยสนับสนุนพัฒนาดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ให้มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานรักษ์โลก และสามารถนำผลงานมา REVIVE ให้แฟชั่นรีไซเคิลได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %

Average Rating

5 Star
0%
4 Star
0%
3 Star
0%
2 Star
0%
1 Star
0%

Leave a Reply

Next Post

ไทยเวียตเจ็ท เพิ่มความถี่เที่ยวบิน กรุงเทพฯ - ฟูกุโอกะ และ ไทเป

ไทยเวียตเจ็ท ประกาศเพิ่มความถี่เที่ยวบิน กระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) – ฟูกุโอกะ เป็น 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่ม 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป และ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) – ไทเป เป็น 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่ม 2 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

You May Like